เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ…ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

 

เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ...ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ…ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

ประวัติความเป็นมา เกาะร้างฮาชิมะ

เกาะฮาชิมะหรือที่คนญี่ปุ่นรู้จักทั่วไปในชื่อ “กุงคังชิมะ (軍艦島 : Battleship Island)” เพราะว่ามีรูปร่างคล้ายเรือรบ ตั้งอยู่ในจังหวัดนางาซากิ ห่างจากท่าเรือนางาซากิไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร มีจุดกำเนิดมาจากการค้นพบถ่านหินบนเกาะในช่วงปี ค.ศ.1810 ภายหลังในปี ค.ศ.1890 บริษัทมิตซูบิชิได้เข้าทำการซื้อสิทธิ์ทั้งเกาะและพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อทำการขุดถ่านหินอย่างเต็มรูปแบบ
ปริมาณการขุดถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในเกาะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงได้ทำการสร้างอาคารพักอาศัยขนาดสูงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นครั้งแรกในประเทศ ช่วงเจริญรุ่งเรืองขีดสุดนั้นมีจำนวนประชากรอาศัยมากถึง 5,300 คน ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่าโตเกียวในสมัยนั้นถึง 9 เท่า

แต่เนื่องด้วยการปฏิวัติพลังงานโดยเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็นน้ำมัน ทำให้ปริมาณการขุดและจำนวนคนค่อยๆลดลง จนเหมืองถูกปิดในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1974 และได้กลายเป็นเกาะร้าง ไร้ผู้คนอาศัยในเดือนเมษายนปีเดียวกัน หลังจากถูกปล่อยให้หลับไหล ผ่านลมพายุมรสุมเป็นระยะเวลานาน จนในที่สุดปี ค.ศ.2015 เกาะฮาชิมะก็ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้าน“แหล่งมรดกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในยุคเมจิ : การถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้า การต่อเรือและการทำเหมืองถ่านหิน” โดยองค์การยูเนสโก

งานในเหมืองถ่านหิน

เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ...ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

 

ปริมาณถ่านหินถูกขุดกว่า 15.7 ล้านตัน ตลอดช่วงปี ค.ศ. 1891 จนถึงปิดเหมืองปี ค.ศ. 1974 โดยงานขุดเหมืองถ่านหินของเกาะฮาชิมะนั้น จะทำถึงใต้ผิวน้ำทะเลลึกมากกว่า 1,000 เมตร นอกจากนี้คนงานขุดเหมืองจะต้องเผชิญกับสภาวะอันตรายมากมายหลายอย่างอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นทางเข้าสู่เหมือง (mineshaft) ที่มีความชันมาก การทำงานภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส ระดับความชื้น 95% ยังไม่รวมถึงความอันตรายจากการระเบิดของก๊าซที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จึงเป็นงานที่เสี่ยงและเหนื่อยเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าเวลาคนงานในเหมืองเจอกันจะใช้คำทักทายว่า“ขอให้ปลอดภัยนะ” ถือเป็นการเตือนสติกันและกันว่าจะทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันขาด

การขยายพื้นที่เกาะ

เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ...ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

  แรกเริ่มเดิมทีเกาะฮาชิมะเป็นเพียงเกาะขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วยโขดหินตะกอน ปราศจากพืชอาศัย แต่ด้วยเทคโนโลยีการขุดเจาะที่พัฒนาขึ้น เกาะฮาชิมะได้ถูกถมทะเล ขยายพื้นที่โดยรอบเป็นจำนวนทั้งหมด 6 ครั้ง จนกลายเป็นเกาะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และมีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า

การใช้ชีวิต

 

เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ...ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2                                                                               โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น

สวนผักลอยฟ้า

บนเกาะฮาชิมะนั้นนอกจากจะมีสิ่งก่อสร้างทั่วไปที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่าง โรงเรียน โรงพยาบาล โรงอาบน้ำ ร้านตัดผม ศาลเจ้า และร้านค้าทั่วไปแล้ว ยังมีสถานที่ให้ความบันเทิงอย่าง โรงหนังและร้านปาจิงโกะด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามบนเกาะไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะปลูกต้นไม้ได้ จึงเกิดความร่วมมือจากหลายๆกลุ่มที่ได้ทำการขนดินไปยังชั้นดาดฟ้าของอพาร์ทเมนท์เพื่อปลูกพืชผักและดอกไม้ ถือเป็นการทำสวนผักบนดาดฟ้าครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากผู้คนที่นี่ต้องการความเขียวชอุ่มจากต้นไม้บนเกาะที่ปราศจากพืชอาศัยอยู่สักเล็กน้อยก็ยังดี ที่จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายขึ้น นี่จึงเป็นการดัดแปลงอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะฮาชิมะ

บรรยากาศภายในห้องพัก

  นอกจากนี้การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและน้ำประปาก็เคยเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเกาะฮาชิมะ ในช่วงแรกนั้นแต่ละครัวเรือนจะใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าผลิตใช้กันเอง แต่วิธีนี้ไม่เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในปี ค.ศ.1918 จึงได้ทำการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสายทางใต้ทะเลจากเกาะทาคาชิมา ส่วนน้ำประปานั้น ช่วงแรกใช้การต้มกลั่นน้ำทะเล ภายหลังใช้การขนส่งน้ำทางเรือ น้ำที่ขนส่งมาด้วยเรือจะถูกส่งต่อไปยังถังเก็บน้ำที่ยกระดับขึ้นสูงและแจกจ่ายผ่านทางหัวจ่ายน้ำสาธารณะที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆบนเกาะต่อไป

หลังจากได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของเกาะฮาชิมะกันมาพอสมควรแล้ว บทความต่อไปเราจะพาทุกท่านเดินทางไปยังเกาะฮาชิมะ หนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาตร์ ที่เคยเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยของประเทศญี่ปุ่นสมัยช่วงเปลี่ยนผ่านก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เที่ยวเกาะร้างฮาชิมะ…ยุคทองของเหมืองถ่านหิน Part 1/2

ติดตามบทความท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อได้ที่นี่ครับ

credit : https://www.gunkanjima-tour.jp/gunkanjima/history.html

https://www.gunkanjima-concierge.com/about/

http://www.gunkanjima-nagasaki.jp/s/knowlage/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *